สวัสดีค่ะ นำข่าวเกี่ยวกับเห็ดมาเล่าสู่กันฟังค่ะ ข่าวนี้ลงเมื่อปี 2017 เราเคยเขียนลงที่อื่นแล้ว แต่ก็อยากนำมาเล่าสู่กันฟังที่นี่ด้วยน่ะค่ะ เพราะว่าเรื่องนี้ยังไงก็ยังคงอยู่ในกระแสไม่เสื่อมคลาย นั่นก็คือ หลายคนที่เป็นมือใหม่ในการเก็บเห็ดมักจะถ่ายภาพเห็ดแล้วนำมาโพสต์ถามในโซเชียลมีเดียต่างๆ ว่า เห็ดนั้นกินได้หรือไม่ …
อ้อ บอกกันก่อนนะคะว่า นี่เป็นการถอดความจากข่าวเพื่อเล่าสู่กันฟัง ไม่ได้เป็นการแปลมาแบบเป๊ะๆ ตรงทุกตัวอักษรนะคะ … ก็มาดูกันค่ะว่า ผู้รู้เรื่องเห็ดเขาแสดงความคิดเห็นกันไว้อย่างไรบ้าง?

ข่าวนี้เกี่ยวกับว่าผู้เชี่ยวชาญด้านเห็ดออกมาเตือนว่า การออกไปป่าและเก็บเห็ดมาตะกร้านึง แล้วถ่ายรูปมาถามเพื่อนๆ ในโซเชียลมีเดียว่า เห็ดนั้นกินได้หรือไม่ เป็นวิธีที่อันตราย ซึ่งอาจจะเสี่ยงอันตรายถึงตายได้เลยทีเดียว เพราะว่าเห็ดกินได้กับเห็ดพิษนั้นสามารถมีลักษณะคล้ายกันมากได้ และในป่าสวีเดนนั้นก็มีเห็ดที่เป็นพิษคร่าชีวิตเราได้ อย่างเช่น toppig giftspindling และ vit flugsvamp เป็นต้น บางชนิดที่กินไม่ได้ มีพิษไม่ถึงตาย แต่ก็ทำให้ป่วยหนักมากทีเดียว
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเห็ด Bosse Nylén บอกว่า
“เปิดหนังสือเห็ดจะง่ายกว่า เพราะสีและคำอธิบายลักษณะจะดีกว่า การเอาเห็ดจริงๆ มาดูแล้วจะบอกว่าเห็ดนั้นเป็นเห็ดชนิดไหนก็ยากอยู่ ถึงแม้ว่าจะคลุกคลีกับเรื่องนี้อยู่ก็ตาม และการที่จะดูว่า เป็นเห็ดชนิดไหน กินได้หรือไม่ได้โดยการดูจากภาพถ่ายนั้นเป็นวิธีที่เสี่ยงอันตรายถึงตายได้”
ผู้เชี่ยวชาญเห็ดอีกคน Marie Jadner ก็บอกว่า
มีคนนำภาพมาถามอยู่บ่อยๆ ในโซเชียลมีเดียว่า เห็ดนั้นเป็นเห็ดชนิดไหน หลายคนไปเก็บเห็ดใส่ตะกร้าตัวเองมาโดยไม่รู้ว่าเป็นเห็ดอะไร แล้วก็ถ่ายภาพมาถามในเฟสบุ๊คว่าเป็นเห็ดที่กินได้ไหม
เราควรที่จะเรียนรู้ให้แน่ใจเกี่ยวกับเห็ดสักสองสามชนิด อย่ามีความคิดที่ว่า เห็ดไม่อันตราย การเก็บเห็ดเพื่อนำมากินนั้นอันตรายมาก และเราต้องมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ก่อนที่จะเก็บมากิน
อ่านข่าวแรกนี้ทั้งหมดได้ที่
มาดูอีกข่าวนึงกันค่ะ
Helena Björnström ซึ่งเป็นผู้ให้คำปรึกษาเรื่องเห็ดและเป็นหนึ่งในแอดมินในกลุ่มที่พูดคุยและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเห็ดบอกว่า
เธอเห็นด้วยส่วนหนึ่งกับข่าวที่กล่าวถึงข้างต้น แต่คิดว่า มันโอเคที่จะถามเกี่ยวกับเห็ดบนเฟสบุ๊คและโซเชียลมีเดียอื่นๆ ถ้าเรารู้ว่าใครคือคนที่ตอบคำถามเรา ในกลุ่มเห็ดที่เป็นแอดมินอยู่นั้นมีสมาชิกในกลุ่มหลายคนที่เป็น ผู้ให้คำปรึกษาเรื่องเห็ด (svampkonsulenter) และ นักเห็ดวิทยา (mykologer)
”Det är okej så länge man vet vem som svarar”,
hävdar svampkonsulenten Helena Björnström.
“การถ่ายรูปมาถามคนอื่นในโซเชียลมีเดียนั้นโอเค ถ้าเรารู้ว่า คนตอบเรานั้นเป็นใคร” – Helena Björnström
และมีคำถามที่ว่า เราจะมั่นใจได้ 100 % ได้ไหมว่าคนที่ตอบเราในกลุ่มเห็ดที่ว่านี้เป็น ผู้ให้คำปรึกษาเรื่องเห็ด หรือ นักเห็ดวิทยา?
Helena Björnström ตอบว่า
ไม่หรอก เพราะอาจจะเป็นสมาชิกคนอื่นที่ไม่ใช่ผู้ให้คำปรึกษาเรื่องเห็ดหรือนักเห็ดวิทยาที่มาตอบ แอดมินไม่สามารถดูแลตรวจสอบหรือตอบโพสต์ทั้งหมดได้ แต่มันก็ยังดีกว่าใช่ไหม ที่มาถามในกลุ่มเห็ดนี้เพราะว่ามีสมาชิกหลายคนที่เก่งเรื่องเห็ด และเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเห็ด
อ่านข่าวทั้งหมดได้ที่
ยังมีอีกข่าวนึงที่เกี่ยวข้องค่ะ ลองไปอ่านกันนะคะ (จริงๆ ข่าวนี้ออกมาเป็นข่าวแรก)

ในข่าวนี้ผู้สื่อข่าวไปสอบถามผู้เชี่ยวชาญเรื่องเห็ด Marie Jadner ซึ่งเธอก็พูดเหมือนในข่าวแรกที่เราได้เขียนเล่าไว้ด้านบนค่ะ และในข่าวนี้ Marie Jadner ก็บอกเพิ่มเติมว่า
มันยากที่จะบอกว่าเห็ดนั้นเป็นเห็ดชนิดไหน โดยไม่รู้ว่า เห็นนั้นขึ้นที่ไหน หน้าตาเป็นอย่างไร มีกลิ่นอย่างไร
เราควรที่จะเรียนรู้แยกความแตกต่างระหว่าง คันตาเรล (kantarell) กับ คันตาเรลปลอม (narrkantarell)
เราต้องไม่เก็บคันตาเรลปลอมมากิน เพราะเคยได้ยินกรณีที่กินคันตาเรลปลอมเข้าไปแล้วก็ป่วยหนัก
อ่านข่าวนี้ทั้งหมดได้ที่
ในกลุ่มเห็ดในเฟสบุ๊คที่คนสวีเดนเขาคุยกันถามกันเรื่องเห็ด จะมีผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้เรื่องเห็ด (svampkonsulent ผ่านหลักสูตรการเรียนเกี่ยวกับเรื่องเห็ด) เป็นแอดมินอยู่หลายคนมาก และคอยดูคอยตอบหรือคอยดูว่าสิ่งใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม สมาชิกหลายๆ คนในนั้นก็เก่งเรื่องเห็ดก็มาช่วยตอบ … ใครสนใจก็แอดเข้าไปได้นะ
ส่วนตัวเราเห็นด้วยกับเฮเลน่านะคะ การถ่ายรูปไปถามในโซเชียลมีเดียก็น่าเชื่อถือส่วนนึงถ้าคนตอบนั้นเก่งน่าเชื่อถือได้ และถ้าคนถามถ่ายภาพส่วนต่างๆ ที่สำคัญของเห็ดมาครบ รูปชัดเจน สีไม่เพี้ยน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ครบ
ถ่ายรูปไปถามในโซเชียลมีเดียได้ค่ะ มันก็เป็นอีกทางในการได้มาซึ่งความรู้เกี่ยวกับเรื่องเห็ด ศึกษาเรียนรู้การดูเห็ดแต่ละชนิดจากคนที่เขาดูเป็น ได้สอบถามเพื่อยืนยันว่าที่เราเรียนรู้ศึกษามานั้นถูกต้องหรือไม่อย่างไร ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันเยอะแยะมากมาย และในโซเชียลมีเดียนี้ก็เป็นอีกทางนึงที่เราจะได้เข้าถึงคนที่เขามีความรู้หรือเชี่ยวชาญเรื่องเห็ด แต่ถามแล้วเราก็ต้องมาศึกษาพิจารณาให้ถี่ถ้วนด้วยตนเองประกอบด้วยค่ะ
แต่ถ้าถามแล้วไม่มาศึกษาลักษณะดีๆ ด้วยตนเองก่อน โดยเฉพาะตัวที่ดูยากๆ และมีคู่เหมือนที่มีพิษ ถ้าไม่รู้จริง ไม่แม่นลักษณะ ไปเก็บวันหลังเกิดหยิบผิดมาก็ซวยไปนะคะ เพราะเห็ดคู่เหมือนเขาขึ้นในสภาพแวดล้อมเดียวกัน บางทีโซนเดียวกัน ขึ้นปนกันอยู่ก็มี ทางที่ดีที่สุดคือ
ศึกษาด้วยตัวเองให้มั่นใจก่อน รู้จักลักษณะเห็ดจริงๆ ก่อนแล้วค่อยเก็บมากินจะดีกว่า
การนำไปถามคนอื่นๆ หรือตามที่ต่างๆ แล้วได้คำตอบแค่ว่า “กินได้” อย่างเดียวนี่ถือเป็นคำตอบที่ไม่ยั่งยืนเลยค่ะ ไม่ได้ทำให้เกิดการเรียนรู้แต่อย่างใด และมีความเสี่ยงแฝงอยู่ในการเก็บกินค่ะ เราควรถามหาชื่อเห็ด ชื่อวิทยาศาสตร์หรือชื่อในภาษาของประเทศนั้นๆ นะคะ ขอลิ้งค์เพื่อเทียบรูปและศึกษาเพิ่มเติม
ถ้าถามแล้วเขาไม่ทราบชื่อ ก็ถามเขาให้ช่วยบอกวิธีการดู สังเกตลักษณะอย่างไร มีกลิ่นไหม กลิ่นอย่างไร มีคู่เหมือนไหม? แยกความต่างจากคู่เหมือนอย่างไร? ขึ้นตามสภาพป่าแบบไหน? หรืออะไรก็ได้ที่เขาเองใช้อยู่เป็นประจำ เพื่อจะได้จำไว้เอาไปศึกษาเองต่อไปค่ะ
บางทีถามแล้วได้ชื่อไทยมา นั่นก็นำไปศึกษาต่อในตำราเห็ดของประเทศนั้นๆ ไม่ได้อีก และเห็ดที่ไทยกับที่อื่น ๆ หน้าตาคล้ายกัน แต่ไม่ใช่ตัวเดียวกันนะคะ ที่ไทยกินได้ ที่ต่างประเทศมีพิษถึงตายเลยก็มีค่ะ มีข่าวคนที่พลาดกินเสียชีวิตไปแล้วก็มี เพราะเขาคิดแค่ว่า หน้าตาเหมือนเห็ดไทยน่าจะกินได้แล้วนำไปทำกินค่ะ ก็ตับพังและเสียชีวิตในที่สุด
และขอฝากไว้อีกนิดนะคะว่า การเรียนรู้ศึกษาเกี่ยวกับเห็ดแต่ละชนิด ไม่ควรเร่งรีบ ควรให้เวลาตนเองในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเห็ดแต่ละตัว และควรรู้จัก เห็ดพิษ หรือ เห็ดคู่เหมือน รู้ว่ากินเห็ดครั้งแรกควรทำอย่างไร เราเคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้แล้วลองหาอ่านกันดูนะคะ >> สาระน่ารู้สำหรับคนเก็บเห็ด

***คนตอบ****
สำหรับท่านที่จะตอบเกี่ยวกับเห็ด ขอความกรุณา อย่าเดานะคะ เพื่อความปลอดภัยค่ะ
ถ้าใครรู้จักและมั่นใจ ขอความกรุณาบอกชื่อ และแนบลิ้งค์ข้อมูลอื่นๆ เพื่อท่านที่ถามจะได้ไปศึกษาต่อเพิ่มเติมด้วยค่ะ ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อความปลอดภัยของตับไตไส้พุงของทุกๆ คนค่ะ
***คนถาม***
ก่อนตัดสินใจเชื่อและนำไปทำกินก็ควรนำข้อมูลหรือคำแนะนำที่ได้รับไปศึกษาเพื่อยืนยันอีกทีด้วยค่ะ ไม่ใช่ว่าปักใจเชื่อทันทีแล้วกินเลย อันตรายถึงชีวิตได้เช่นกันค่ะ และกินครั้งแรกก็ควรกินแต่พอประมาณเพื่อดูว่าร่างกายมีปฏิกิริยาอย่างไรกับเห็ด และบอกคนที่บ้านให้รับทราบด้วยว่ากินอะไร เผื่อไว้ถ้ามีปัญหาตามมาจะได้หาทางแก้ไขรักษาได้ทันค่ะ
และสุดท้ายที่อยากบอกก็คือ เราเองขอไม่ตอบนะคะถ้ามีใครส่งมาถามว่า กินได้หรือไม่ หรืออันไหนที่เราไม่มั่นใจเราก็จะไม่ตอบเช่นกันค่ะ
ด้วยความปรารถนาดีค่ะ
รวบรวมมาเล่าสู่กันฟังโดย Yui in Lund, Sweden